ม็อบยางบุกทำเนียบ ช่วยเร่งแก้ปัญหายางราคาตก แนะออกตั๋วแลกเงิน
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง นำโดย คุณสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ติดต่อประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง พร้อมทั้งตัวแทนชาวสวนยางจากจ.ชุมพร นครศรีธรรมราช และจ.สุราษฎร์ธานี ประมาณกว่า 30 คน ได้ยื่นหนังสือต่อ คุณอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อเร่งให้แก้ไขปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำ
นายสุนทร เปิดเผยว่า ทางกลุ่มชาวสวนยางได้รับความดือดร้อนจากปัญหาราคายางตกต่ำ จึงขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือโดยปรับราคายางพารากิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ ทาง ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่าจะผลักดันให้มีราคาเพิ่มขึ้น ถึงกิโลกรัมละ 60 บาท แต่ ณ เวลา นี้ราคายางยังไม่ถึงกิโลกรัมละ 50 บาท และถ้าหากราคาไม่ถึง 80 บาท ก็ขอให้รัฐบาลชดเชยส่วนต่าง โดยออกเป็นตั๋วแลกเงินเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางนำไปขึ้นเงินได้ทันที
นายสุนทร ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางพารา ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ร่างขึ้นจากนักวิชาการ ข้าราชการ นักการเมือง โดยมีตัวแทนของชาวสวนยางที่ครม.สรรหาซึ่งไม่ใช่เกษตรกรจริงเพียง 1 คนเข้าไปร่วมยกร่าง ซึ่งทำให้เนื้อหาของร่างฯเพื่อรับใช้นักการเมือง และนายทุนผู้ประกอบธุรกิจการยาง และถ้าหากไม่มีความชัดเจนหรือรัฐบาลยังผลักดันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ทางเกษตรกรชาวสวนยางจะรวมตัวเพื่อเตรียมเคลื่อนไหว หลังวันที่ 25 พฤศจิกายน 57 ต่อไป
ทางด้านนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตร ได้ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการดูแลชาวสวนยาง ว่า กระบวนการช่วยเหลือนั้นทางคสช.มี 16 มาตรการที่ทำไว้ก่อนที่จะมีรัฐบาล หลังจากมีรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นอีก 4 มาตรการ แบ่งเป็น
1.การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่ละ 1,000 บาท และการปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)ให้ชาวสวนยางไปทำอาชีพเสริม
2.เข้าร่วมประชุมกับ 7 ชาติ ที่มาเลเซีย เพื่อขอร่วมมือระหว่างประเทศไตรภาคียางพารา ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อขึ้นราคายางให้สูงขึ้น
3.มาตรการภายในประเทศไทยให้สหกรณ์เข้ามาซื้อและแปรรูปยางให้เพื่อเพิ่มมูลค่า
4. มีโครงสร้างรักษาเสถียรภาพราคายาง
ขณะเดียวกันนักลงทุนหลายๆเจ้า เริ่มเข้ามาซื้อมากขึ้นประกอบกับข้อมูลการผลิตของโลกที่ถูกเปิดเผยว่าบอกว่าสต็อกยางพาราไม่ได้มีจำนวนมาก ทำให้ผลผลิตลดลง จึงเริ่มมีคนอยากซื้อและเก็บสต็อกไว้เพื่อให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในตลาด
ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมได้เสนอมายังรัฐบาลว่า ณ เวลานี้ราคายางพาราถึงจุดต่ำสุดแล้วรัฐบาลควรปฏิรูประบบยางพารา ระบบตลาด รวมถึงปฏิรูปภาครัฐ ส่วนกลุ่มชาวสวนยางที่มายื่นเรื่องวันนี้เพื่อขอให้รัฐบาลปฏิรูประบบยางให้มีความมั่นคงในระยะยาวเพื่อให้ไทยสามารถกำหนดราคายางเองได้ โดยไม่ต้องขึ้นกับประเทศอื่นและการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้นั้นคนที่ถูกปฏิรูปต้องมาร่วมด้วย ซึ่งตนจะเป็นผู้ประสานงานให้การปฏิรูปเกิดขึ้น
เมื่อถามว่าข้อเสนอของชาวสวนยางใดที่รัฐบาลรับได้และรับไม่ได้ นายอำนวยกล่าวว่า ที่จริงทิศทางโดยรวมเหมือนกันคือการปฏิรูปทั้งระบบ
อีกประเด็นหนึ่ง จากการที่ชาวนาในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิชื่อดังและมีการนำข้าวมาตากแดดให้แห้งบนท้องถนนและสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะตามถนนในหมู่บ้าน เพื่อลดความชื้นก่อนนำข้าวบางส่วนไปขายให้โรงสี และหลายพื้นที่เริ่มพบว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพออกตระเวนขโมยข้าวที่ตากไว้
ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา เกิดเหตุโจรขโมยข้าวเปลือกของชาวบ้าน ตำบลบ้านแร่ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ที่ตากไว้บริเวณถนนในหมู่บ้านที่หายไปกว่า 1 ตัน อีกด้วย ด้าน พล.ต.ต.กาญจน์พศ ชัยศิริชาญพนา ผบก.ภ.จว.สุรินทร์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ตำรวจทุกท้องที่ จัดสายตรวจ ออกคุ้มกันข้าวของชาวนาไม่ให้ถูกขโมยแล้ว